Monday, July 25, 2011

Take a look back :: Dressage Clinic & Freestyle to Music by Hans Staub in 2009


จะว่าไปแล้ว การเปิดอบรมเกี่ยวกับกีฬา Dressage มีมาหลายหนแล้วเหมือนกัน เนื่องจากทางสมาคมขี่ม้าฯเล็งเห็นว่า Freestyle Dressage มีบทบาทสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อการก้าวไปสู่เวทีการแข่งขันในระดับนานาชาติ  

ย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2006 สมาคมขี่ม้าฯได้ทำการเปิด ​FEI Dressage Forum ที่ฮอร์สชูพอยต์ และมีกรรมการจาก FEI นำโดย Mariette Withages บินมาสอนและทำ clinic ให้ถึงที่  หรือเมื่อปลายปี 2009  ที่มีการเปิด Dressage Clinic โดย ฮันส์ สเตาบ์ (Hans Staub) พร้อมจัดอบรมและให้ความรู้เกี่ยวกับการขี่ม้าแบบ Freestyle to Music และการฝึกทำเทคนิคอย่างถูกวิธี โดยนอกเหนือจากการบรรยายแล้ว ฮันส์ยังมีการเปิดชั้นเรียนแบบ Exclusive ให้แก่นักกีฬาและบุคคลทั่วไปที่สนใจ เป็นระยะเวลาถึง 4 วัน

Dressage Forum at Horseshoe Point Pattaya in 2006; Mariette Withages (middle in pink top). Photo courtesy of Vithai Laithomya.

Dressage Clinic by Hans Staub at GCP Bangna in 2009. Photo courtesy of Thailand Equestrian Federation.

ฮันส์ สเตาบ์  (Hans Staub)  ได้เข้ามามีส่วนร่วมในวงการขี่ม้าทีมชาติไทยตั้งแต่ปีค.ศ. 1995 เมื่อ มร.นิคลี (Mr. Wolfgang Niggli) FEI Dressage Director แนะนำฮันส์ให้รู้จักกับพันเอกเฟื่องวิชชุ์ อนิรุทธเทวา กับตันทีมชาติไทยในสมัยนั้น ซึ่งพันเอกเฟื่องวิชชุ์ก็ได้เชิญฮันส์มาเป็นโค้ชทีมชาติเดรสซาจไทยที่กำลังเตรียมตัวแข่งขันซีเกมส์ในปีเดียวกัน และนับจากนั้นเป็นต้นมา ฮันส์ก็ได้เป็นครูฝึกเดรสซาจให้แก่นักกีฬาทีมชาติไทยหลายคน ไม่ว่าจะเป็นเฉลิมฉาน ยศวิริยะพาณิชย์, อภิภู พรหมโยธี, สุวัชร์ บุญลือ รวมถึงนักกีฬาคนอื่นๆอีกหลายคน

Gold Medal for Thailand Dressage Team and Bronze Medal for Individual (Col. Fuangvich Aniruth-Deva) at SEA Games 1995 in Chiang Mai. Photo courtesy of Hans Staub.

สำหรับการบรรยายใน Dressage Forum ปี 2009 ในหัวข้อ Freestyle to Music นั้น ได้รับความสนใจจากทั้งนักกีฬา ผู้ปกครองรวมทั้งบุคคลภายนอกที่เข้าร่วมฟังการบรรยายกว่า 30 คน ฮันส์มานั่งพูดคุยอย่างเป็นกันเอง โดยเริ่มตั้งแต่นิยามของการแข่งขันประเภทนี้ 

“Freestyle to Music ก็คล้ายๆกับการแข่งขันเดรสซาจชั้นสูงแบบดั้งเดิมที่การเคลื่อนไหวทั้งหมดนั้นเกิดจากท่าทางตามธรรมชาติของม้าครับ” ฮันส์เริ่มเล่า “ในปีค.ศ. 1986 ทางสหพันธ์ขี่ม้านานาชาติต้องการปรับให้กีฬาเดรสซาจน่าสนใจมากขึ้น ก็เลยกำหนดการแข่งขันที่เรียกว่า Freestyle to Music ขึ้นมาสำหรับเป็นบททดสอบเดรสซาจแบบใหม่ในระดับกรังซ์ ปรีซ์ (Grand Prix) โดยเพิ่มเสียงเพลงเข้าไปในการแข่งขันด้วย ”  

หรือพูดง่ายๆก็คือปรับให้ม้าเต้นไปตามจังหวะเพลงนั่นเอง การแข่งขันประเภทนี้พิจารณาจังหวะการก้าวเท้าและการเคลื่อนไหวหลักๆของม้า และนักกีฬาจะมีอิสระในการเลือกรูปแบบการนำเสนอเองได้โดยอยู่ภายในขอบเขตของกฏทางด้านเทคนิคที่กำหนดไว้  ทางคณะกรรมการจะดูจากความผสานกลมเกลียวกันระหว่างนักกีฬาและม้ารวมถึงความลื่นไหลในการเปลี่ยนจังหวะด้วย ปัจจุบัน Freestyle to Music จัดการแข่งขันทั้งในระดับ Pony, Junior, Young Rider, Intermediate 1 รวมทั้งระดับ Grand Prix ด้วย

ในฐานะนักกีฬาและครูฝึกผู้ช่ำชองในกีฬาประเภทนี้ ฮันส์ได้เน้นย้ำว่า สิ่งที่สำคัญมากที่สุดสิ่งหนึ่งที่มีผลแก่ชัยชนะคือการเลือกเพลงที่ใช้แข่งขัน   

“Freestyle to Music ต้องมีธีมครับ  เราควรจะเลือกเอาเพลงแนวเดียว ไม่ใช่เอาหลายแนวมาผสมกัน เพลงที่ใช้ในการแข่งขันควรเหมาะกับทั้งนักกีฬาและการเคลื่อนไหวของม้า และหากต้องการทำให้สมบูรณ์ควรให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการตัดต่อเพลงทำให้ เราต้องมองจังหวะขาหน้าของม้าให้ออกแล้วหาจังหวะเพลงที่คล้องกันพอดี และเด็กๆก็อย่าฝืนเลือกเพลงคลาสสิกแต่ควรเลือกเพลงสบายๆจังหวะสนุกๆสมวัยจะดีกว่าครับ”   

โดยคะแนนการตัดสินจะแบ่งออกเป็นด้านเทคนิคอันเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของม้า ด้านศิลปะอันประกอบด้วยความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างนักกีฬากับม้า การเข้าจังหวะ ความยากง่ายของท่าเต้น รวมไปถึงการตีความเพลงออกมาเป็นท่าทางการเคลื่อนไหว 

“คุณต้องเดาทางออกว่ากรรมการอยากเห็นอะไรและก็ควรเตรียมพร้อมตั้งแต่ขั้นตอนออกแบบท่าเลย  พอเลือกจังหวะที่เหมาะกับทั้งคนและม้าได้ก็ต้องวางจุดจังหวะว่าเราจะเล่นจังหวะไหน ณ จุดใดในสนาม โดยควรจะกำหนดการเคลื่อนไหวให้กระจายครอบคลุมบริเวณสนามให้มากที่สุดและกำหนดจังหวะยากง่ายสลับกันไปให้ดูสมดุล ถ้าไม่มั่นใจว่าจะทำท่าที่ยากและซับซ้อนได้ แนะนำให้ขี่ด้วยท่าที่เรียบง่าย ทำให้ออกมาดูเหมือนเราสบายๆ ขี่ด้วยความสนุกและมั่นใจครับ” ฮันส์บอก 

ในการให้คะแนน ท่าที่ยาก และซับซ้อนจะได้คะแนนสูงกว่า แต่ในขณะเดียวกัน ความผิดพลาดเกิดขึ้นง่ายกว่า เป็นความเสี่ยงของผู้ขี่ในการออกแบบวางแผน ว่าจะทำอย่างไรให้ได้คะแนนสูงที่สุด และไม่มีข้อผิดพลาด

และสิ่งสุดท้ายที่พึงเตือนตัวเองตอนแข่งคือ  ในการออกแบบการขี่ freestyle ระยะเวลาในการ show ไม่ควรเกินเวลาที่กำหนดไว้เด็ดขาด โดยแต่ละ level จะกำหนดเวลาไว้ไม่เท่ากัน ฮันส์ทิ้งท้าย 

ได้ครูดีๆมาสอนให้ถึงที่แบบนี้แล้ว การขี่ม้าเดรสซาจในเมืองไทยคงจะเขยิบไปข้างหน้าได้อีกนิดหนึ่ง...

ทีนี้ก็ได้แต่ฝากความหวังไว้กับคนในวงการขี่ม้าในการช่วยประชาสัมพันธ์ให้กีฬาขี่ม้าเดรสซาจบ้านเราขยายวงกว้างขึ้น เราจะได้มีนักกีฬาเก่งๆ ที่จะมาผนึกกำลังช่วยรุ่นพี่ไปคว้าชัยในระดับนานาชาติเพิ่มขึ้นไปอีกในอนาคตให้สมศักดิ์ศรีนักกีฬาเดรสซาจไทยที่ไม่เป็นรองใครในภูมิภาค!

กฎรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถเข้าไปดูได้ที่ http://www.fei.org/disciplines/dressage/rules

ส่วนใครที่สนใจเข้าร่วม Dressage Clinic ระหว่างวันที่ 30 กรกฎาคม ถึงวันที่ 2 สิงหาคมที่จะถึงนี้ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ
Dressage Clinic by Hans Staub : 30 July to 2 August 2011 

*******************

ภาพบรรยากาศจากการแข่งขันเดรสซาจที่รายการ President's Cup ปี 2009 โดยมี ฮันส์ สเตาบ์ เป็นกรรมการตัดสินในรุ่น Preliminary, Novice, Elementary และ Prix St. George











*******************

Dressage Clinic & 'Freestyle to Music' Forum







No comments:

Post a Comment