Tuesday, June 26, 2012

เปิดโผตัวเต็ง อีเวนท์ติ้งโอลิมปิค 2012

The victorious German Team for Eventing Olympic 2008: Peter Thomsen, Andreas Dibowski, Hinrich Romeike, Ingrid Klimke and Frank Ostholt. 
Photo courtesy of Julian Herbert/Getty Images.


นับถอยหลังจากนี้ไป 30 วัน มหกรรมการแข่งขันกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกก็จะเปิดฉากขึ้น

สำหรับวงการขี่ม้า ช่วงนี้หลายประเทศต่างก็ทยอยเปิดโผรายชื่อนักกีฬาทีมชาติของตน วันนี้ HorseMove จะมานำเสนอนักกีฬาตัวเต็งและนักกีฬาที่น่าจับตามองในการแข่งขันโอลิมปิคครั้งนี้ โดยเริ่มจากการแข่งขันขี่ม้าประเภทอีเวนท์ติ้งเป็นลำดับแรก 

ก่อนจะเลยไปถึงรายชื่อนักกีฬาตัวเต็ง เราคงต้องบอกก่อนคร่าวๆ ว่าในประเภทอีเวนท์ติ้งนี้ ประกอบด้วยนักกีฬาและม้าทั้งสิ้น 75 คู่จากทั้งหมด 22 ประเทศ  ส่วนประเทศที่ควอลิฟายในประเภททีม* ได้แก่
1. อังกฤษ (ประเทศเจ้าภาพ)
2. แคนาดา 
3. นิวซีแลนด์
4. สหรัฐอเมริกา
5. เยอรมัน
6. เบลเยี่ยม
7. ฝรั่งเศส
8. สวีเดน
9. บราซิล
10. ญี่ปุ่น
11. ออสเตรเลีย 
12. เนเธอร์แลนด์
13. ไอร์แลนด์

ในส่วนของประเภทบุคคล** (Individual) ประกอบไปด้วยนักกีฬาจากประเทศอิตาลี, เบลารุส, จาไมก้า, เอกวาดอร์, แอฟริกาใต้, ไทย, ออสเตรีย, รัสเซีย และ โปแลนด์ โดยแต่ละคนต้องต่อกรกับนักกีฬาอีกกว่าพันคนเพียงเพื่อรับสิทธิ์ในการแข่งขันประเภทบุคคลเพียงไม่ถึง 20 ที่นั่งนี้ 

Remarks:
*ส่วนใหญ่ ประเทศที่ได้ควอลิฟายเป็นทีม (ทีมละ 5 คน) จะมีการตัดตัวนักกีฬาอีกครั้งหลังก่อนการแข่งขันโอลิมปิคในเดือนกรกฎาคมนี้
**คะแนนสะสมของนักกีฬาในประเภททีมจะถูกนำไปรวมกับประเภทบุคคลในการนับคะแนนเพื่อคัดตัวโอลิมปิคด้วย

สำหรับนักกีฬาจากทวีปเอเชีย มีเพียงสองชาติเท่านั้นที่ได้ลงแข่งขันโอลิมปิคปีน้ี คือ ประเทศญี่ปุ่น และประเทศไทย  โดยทีมญี่ปุ่น นำโดย “พระ” Kenki Santo แชมป์เอเชียนเกมส์ปี 2010 โดยทีมนักกีฬาญี่ปุ่นทำการเก็บตัวในยุโรปและลงแข่งขันหลายนัดทำให้ทีมมีความแข็งแกร่งขึ้นมาก ส่วนหนึ่งเดียวของไทย น้องณีนา ล่ำซำ ก็ย้ายม้าทั้ง 4 ตัวไปเก็บตัวที่อังกฤษมากว่า 3 เดือนแล้วและลงทดสอบสนามในการแข่งขันหลายรายการ ทำให้ประสบการณ์ของเธอไม่เป็นรองใครเช่นกัน

อย่างไรก็ดี ยังมีความเป็นไปได้ว่าประเทศมหาอำนาจอย่างสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่มีนักกีฬาฟอร์มดี Alex Hua Tian  ซึ่งเคยผ่านการแข่งขันโอลิมปิคเมื่อปี 2008 ก็อาจจะสามารถเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิคปีนี้ได้เช่นกัน หลังจากที่พลาดท่าทำคะแนนได้ไม่ดีนักในระหว่างเก็บคะแนนสะสม ทำให้ตอนนี้ติดอยู่ในโผตัวสำรองเท่านั้น  ต้องรอลุ้นกันว่าจะมีใครสละสิทธิ์ก่อนการแข่งขันกันครับ

และในช่วงโค้งสุดท้ายโอลิมปิค แต่ละประเทศจะมีการตัดตัวรอบ Final อีกครั้งก่อนสรุปโผรายชื่อนักกีฬาทีมชาติภายในวันที่ 9 กรกฎาคม  ซึ่งส่วนใหญ่นักกีฬาจะทำลงแข่งขันกันที่รายการใหญ่ Barbury Castle International Horse Trials ณ ประเทศอังกฤษ เพื่อแสดงผลงานของตนเป็นครั้งสุดท้ายก่อนการแข่งขันโอลิมปิคจะเริ่มขึ้น และในการแข่งขันครั้งนี้เอง น้องณีนา ก็จะลงสนามเพื่อทดสอบความพร้อมของตนและของม้าทั้ง 4 ตัวด้วย เพื่อตัดสินใจเลือกม้าตัวที่เหมาะสมที่สุดเข้าแข่งขันโอลิมปิค

ก่อนที่โผรายชื่อนักกีฬาล่าสุดจะออก ผมว่าเราลองมาดูรายชื่อตัวเต็งของประเทศที่จัดอยู่ในแชมป์อีเวนท์ติ้งโลกกันหน่อยดีกว่า ว่ามีใครกันบ้างที่น่าจับตามองบ้าง และเขาเหล่านั้นมีผลงานอะไรมาแล้วบ้างครับ


 

Saturday, June 23, 2012

ทัพนักกีฬาไทยในโอลิมปิคลอนดอนเกมส์ :: 37 คน 16 ชนิดกีฬา และความหวังหนึ่งเดียวของวงการขี่ม้าไทยในโอลิมปิคลอนดอนเกมส์

เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วนะครับว่าการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคเกมส์ครั้งนี้ จะจัดขึ้นที่มหานครลอนดอน สหราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 27 กรกฎาคม - 12 สิงหาคม 2555 


สำหรับประเทศไทยส่งนักกีฬาเข้าแข่งขันทั้งหมด 37 คน 16 ชนิดกีฬา ประกอบด้วย กรีฑา 2 คน, ยิงปืน 3 คน, ยูโด 1 คน, ขี่ม้า 1 คน, มวยสากล 3 คน, ว่ายน้ำ 3 คน, ยิงธนู 1 คน, เทควันโด 3 คน, วินด์เซิร์ฟ 2 คน, เรือใบ 1 คน, ยกน้ำหนัก 7 คน, เป้าบิน 1 คน, จักรยาน 1 คน, แบดมินตัน 6 คน, เรือพาย 2 คน และเทเบิลเทนนิส 1 คน


และเมื่อวันศุกร์ที่ 22 มิถุนายนที่ผ่านมา สมาคมขี่ม้าแห่งประเทศไทยได้เข้าร่วมงานแถลงข่าว "Meet The Press" ของสมาคมนักข่าวช่างภาพกีฬาฯเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของนักกีฬาขี่ม้าไทย ณีนา ล่ำซำ ลิเกิ้น กับการเตรียมความพร้อมโอลิมปิค ณ สนามกีฬาแห่งชาติ ร่วมกับสมาคมกีฬายิงปืนและยิงเป้าบิน โดยสื่อของไทยต่างให้ความสนใจกับนักกีฬาขี่ม้าไทยเป็นอย่างมาก 





โค้งสุดท้ายโอลิมปิค

ณีนาและม้าทั้ง 4 ตัว เดินทางไปเก็บตัวที่ประเทศอังกฤษตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา เนื่องจากต้องการให้ม้าได้ปรับตัวกับสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เป็นปัจจัยสำคัญในการแข่งขันขี่ม้า ยิ่งม้าปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ได้มากเท่าไหร่ ก็จะส่งผลดีต่อผลการแข่งขันมากเท่านั้น โดยระหว่างการเก็บตัวฝึกซ้อมที่ประเทศอังกฤษ  ณีนาได้วางแผนการแข่งขันเพื่อเป็นการอุ่นเครื่องก่อนการแข่งขันโอลิมปิคที่จะมาถึง โดยณีนาลงแข่งไปแล้ว 3 รายการ คือที่ Aston-le-Walls, Houghton Hall และ Bramham โดยเธอและม้าสามารถทำผลงานออกมาได้อย่างน่าพอใจ 

สำหรับม้าทั้งสี่ตัวตอนนี้อยู่ในสภาพที่พร้อมที่สุด และเธอจะลงแข่งอีกครั้งที่ Barbury Castle ระหว่างวันที่ 28 มิถุนายน ถึง 1 กรกฏาคม ซึ่งเป็นการลงแข่งสนามใหญ่รอบสุดท้าย ก่อนตัดสินใจเลือกม้าคู่ใจและวัดผลการแข่งขันกับนักกีฬาชาติต่างๆที่เดินทางมาถึงประเทศอังกฤษแล้ว ซึ่งนักกีฬากว่า 70% ที่เป็นตัวแทนทีมชาติต่างๆก็ใช้รายการนี้เป็นสนามซ้อมใหญ่เช่นกัน   

จากการจัดอันดับโลกเมื่อเดือนมีนาคม 2012 ณีนา อยู่ในอันดับที่ 38 ของโลก และอยู่ในอันดับที่ 11 ของการคัดตัวโอลิมปิคประเภทบุคคล

การเก็บคะแนนสะสมโอลิมปิค

ในกีฬาขี่ม้าประเภทอีเวนท์ติ้ง นักกีฬาทุกคนจากทุกประเทศทั่วโลกจะต้องทำการแข่งขันเก็บคะแนนเพื่อแย่งสิทธิในการเข้าร่วมแข่งขันโอลิมปิค โดยมีนักกีฬาเพียง 75 คนที่ดีที่สุดเท่านั้นที่จะได้ลงแข่ง

สำหรับการแข่งขันคัดตัวเก็บคะแนนเริ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2011 และสิ้นสุดลงในเดือนมีนาคม 2012  โดยผู้ที่ได้รับคัดเลือกจะแบ่งออกเป็นนักกีฬาประเภททีม 11 ทีม หรือ 55 คน ส่วนอีก 20 คนเป็นนักกีฬาที่เข้าแข่งขันในประเภทบุคคล สำหรับประเทศไทยไม่มีนักกีฬาขี่ม้าในระดับนี้พอที่จะแข่งเป็นทีมได้ ณีนาจึงเป็นตัวแทนประเทศไทยเพียงคนเดียวที่จะต้องแข่งขันกับนักกีฬาทั้งโลก เพียงเพื่อแย่งสิทธิเพียงหนึ่งเดียวใน 20 ลำดับของประเภทบุคคล

ม้าที่ใช้ในการแข่งขัน

ในการลงแข่งขันแต่ละแมทช์ณีนามีม้าระดับสุดยอดที่ใช้แข่งขันถึง 4 ตัว ได้แก่ 
  1. Fernhill Fearless (ม้าระดับ 3 star)
  2. Butts Leon (ม้าระดับ 4 star)
  3. Jazz King (ม้าระดับ 3 star)
  4. Tipperary Liadhnan (ม้าระดับ 4 star)
แต่สุดท้ายแล้วเมื่อถึงคราวลงแข่งขันจริงในโอลิมปิค ณีนาจะต้องเลือกม้าคู่ใจเพียงแค่ตัวเดียวเท่านั้น     โดยณีนาจะเลือกม้าตัวที่ร่างกายสมบูรณ์ที่สุดและฟอร์มการแข่งดีที่สุดในการส่งชื่อลงแข่งโอลิมปิค

การเก็บตัวฝึกซ้อมในปีที่ผ่านมา

หนึ่งปีที่ผ่านมาณีนาลงแข่งขันหลายรายการตลอดทั้งปีซึ่งต้องใช้ความมุมานะและอดทนอย่างมาก           เธอตระเวนแข่งขันไปเกือบทุกที่ไม่ว่าจะเป็นในสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และสาธารณรัฐเชค   หลังจากลงแข่งขันไม่กี่นัด ณีนาก็ได้สร้างความประหลาดใจแก่วงการขี่ม้าในต่างประเทศเพราะเด็กผู้หญิงสายเลือดไทยคนนี้สามารถเอาชนะนักกีฬาตัวเต็งในการแข่งขันระดับนานาชาติได้หลายรายการ  โดยเฉพาะรายการใหญ่ที่สหรัฐอเมริกา และสาธารณรัฐเชค

และล่าสุดเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา  ณีนาก็ชนะเลิศการแข่งขันเก็บคะแนนโค้งสุดท้ายที่อเมริกามาได้ทำให้สื่อขี่ม้าต่างแดนต่างประโคมข่าวณีนา และถี่ขึ้นเรื่อยๆเมื่อเธอคว้ารางวัล Rising Star ของสหพันธ์ขี่ม้านานาชาติ (Fédération Equestre Internationale) ในเดือนพฤศจิกายน 2011 

ผลงานในระดับทีมชาติไทย

เส้นทางที่ช่วยปูทางและสานฝันให้กับณีนาเริ่มต้นขึ้นในปี 2007 เมื่อเธอตัดสินใจลงแข่งขันในนามนักกีฬาขี่ม้าทีมชาติไทยในกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 24 ที่จัดขึ้นที่เมืองไทย  ด้วยวัยเพียง16 ปี ณีนาสามารถคว้าสองเหรียญทองจากการแข่งขันกีฬาขี่ม้าประเภทอีเวนท์ติ้งได้สำเร็จ และครั้งนั้นเธอก็ได้พิสูจน์ให้คนไทยทั้งประเทศเห็นถึงความเป็นนักกีฬามือหนึ่งของเธอ และแจ้งเกิดในวงการขี่ม้าไทยนับแต่นั้นมา
หลังจากจบกีฬาซีเกมส์ไปสามปีในปี 2010  ณีนากลับมารับใช้ชาติอีกครั้งในกีฬาเอเชียนเกมส์ที่เมืองกวางโจว ประเทศจีน  ครั้งนี้ณีนากลับมาด้วยฟอร์มที่เก่งขึ้น เติบโตขึ้นและเป็นความหวังของทีมชาติไทย  ณีนาเป็นกำลังหลักให้กับทีมชาติไทย คว้าเหรียญเงินประเภททีมมาครอง และได้อันดับที่ 4 ประเภทบุคคล

กีฬาขี่ม้า ประเภทอีเวนท์ติ้ง

กีฬาอีเวนท์ติ้งเป็นกีฬาที่ต้องแข่งขันกันถึงสามวัน เหมือนไตรกีฬา โดยแต่ละวันนักกีฬาและม้าจะต้องผ่านการทดสอบประเภทต่างๆ เริ่มจากการแข่งขันศิลปการบังคับม้า (Dressage) ในวันแรก  การกระโดดในภูมิประเทศ (Cross Country) ในวันที่สอง  และขี่ม้ากระโดดข้ามเครื่องกีดขวาง (Show Jumping) ในวันที่สาม  โดยนักกีฬาและม้าที่ทำคะแนนเสียน้อยที่สุดของทั้งสามวันจะเป็นผู้ชนะ

ข่าวอัพเดทประจำวันของน้องณีนาติดตามได้ที่


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ horsemove.th@gmail.com และติดตามข่าวอัพเดทวงการขี่ม้าที่ 
www.horsemovethailand.com


 

Saturday, June 16, 2012

A Diary from Bromont CCI 2012 สนามชี้ชะตานักกีฬาอีเวนท์ติ้งอเมริกา





กว่า 10 วันในแคนาดา....

หายไปนานสำหรับการอัพเดทใน Horsemove นะครับ เนื่องจากต้องเดินทางไกลไปประเทศแคนาดา เพื่อเป็นกรรมการ (TD หรือชื่อเต็มว่า Technical Delegate) ในรายการ VOLVO Bromont Three Day Event ระหว่างวันที่ 7-10 มิ.ย. ที่ผ่านมา แต่เราก็ยังอัพเดทข่าวสารใน Facebook และ Twitterเหมือนเดิมนะครับ
ในช่วง2-3ปีที่ผ่านมา การแข่งอีเวนท์ติ้งที่เมือง Bromont รัฐQuebec ประเทศแคนาดา เริ่มมีชื่อเสียงขึ้นมาในระดับนานาชาติ เราคงได้ยินชื่อ Bromont อยู่บ่อยครั้ง เพราะในช่วงหลังๆ นักกีฬาระดับโลกทั้งหลายมักไม่พลาดการเข้าร่วมการแข่งขันที่นี่ จนทำให้ที่นี่พัฒนาจนเป็นหนึ่งในสนามสุดยอดของทวีปอเมริกาเหนือ



เมื่อผมมาถึงงานในวันที่ 3 กค. (1 สัปดาห์ก่อนการแข่งขัน) ต้องบอกว่าที่นี่เป็นสนามที่สวยมากๆ โดยเฉพาะตัว Stadium ที่ใช้แข่งขันขี่ม้ากระโดดและศิลปการบังคับม้า ได้ถูกออกแบบมาอย่างดีทีเดียว นอกจากนี้ที่นี่ยังเคยเป็นสนามจัดการแข่งขันขี่ม้าในโอลิมปิคเมื่อปี1976 อีกด้วย

กรรมการที่มาตัดสินก็ล้วนแต่เป็นกรรมการระดับสุดยอดอีกเช่นกัน โดยกรรมการเหล่านี้มาจากประเทศต่างๆจากแทบทุกมุมโลก ไม่ว่าจะเป็น อเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส สวิสเซอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ แคนาดา เม็กซิโก และสุดท้าย คือ ประเทศไทย และส่วนใหญ่นั้นกรรมการตัดสินอยู่ในระดับ 4 Star ส่วน Course Designer ก็มีดีกรีเป็นถึงผู้ออกแบบสนามท่ี Rolex Kentucky 3DE ปีล่าสุด 




Course inspection by the officials

Competition Arena

With my mentor, Andy Griffiths

VOLVO The Official Sponsor of Bromont CCI 2012

Official banner of VOLVO Bromont CCI 2012

ไปตัดสินที่นี่ได้ยังไง?

ต้องบอกว่าโอกาสที่จะได้มางานใหญ่ระดับนี้ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆสำหรับกรรมการรุ่นใหม่และมาจาก"เอเชีย" ต้องขอบคุณ FEI ที่เค้ามีโครงการที่เรียกว่า Global Education Program ที่แต่ละปีจะรับสมัครและคัดเลือกกรรมการเลือดใหม่จากประเทศต่างๆทั่วโลกประมาณ 30 คน เพื่อเข้าร่วมโครงการนี้
โดยจะส่งกรรมการที่คัดเลือกไปร่วมงานกับกรรมการ รุ่น Senior เพื่อเปิดโลกทัศน์และเรียนรู้ประสบการณ์จากการแข่งขันใหญ่ๆองโลก ส่วนเรื่อง ค่าใช้จ่าย FEI จะเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมดให้เอง


Dressage Arena


Philip Dutton and Atlas in CCI 3*


สำหรับงาน VOLVO Bromont Three Day Event  นอกจากจะเป็นงานใหญ่ประจำปีแล้ว การแข่งขันในปีนี้ยังมีความพิเศษตรงที่ ทีมชาติอเมริกา และทีมชาติแคนาดา ต้องใช้สนามแห่งนี้เป็นตัวตัดสินชี้ชะตาในการคัดเลือกนักกีฬาที่จะเข้าร่วมแข่งขันในโอลิมปิค  โดยคนที่ทำผลงานได้ดีก็มีสิทธิ์ติดทีมชาติสูง เพราะฉะนั้นผมจึงได้มีโอกาสเจอกับนักกีฬาระดับทีมชาติทุกคน (เป็นแมทช์บังคับที่ทุกคนต้องลง) ส่วนบรรยากาศการแข่งขันเรียกได้ว่าใส่กันเต็มที่ทุกคนไม่มียั้ง!

ก่อนการแข่งขันเริ่มขึ้น ผมได้เจอนักกีฬาระดับตำนานหลายคน ทั้ง Bruce Davidson, Mark Phillip, David O'corner รวมถึงนักกีฬาที่มาแรงที่สุดในอเมริกาไม่ว่าจะเป็น Phillip Dutton และ Boyd Martin (ทั้งสองคนเป็นตัวเต็งในลอนดอนเกมส์) นอกจากนี้ยังมีเรื่องน่ายินดีสำหรับคนไทยที่นักกีฬาหลายคนเดินมาหาผมแล้วบอกว่า "I know Nina!" พร้อมชมกับผมว่า น้องณีนา ของเราเป็นนักกีฬาดาวรุ่งที่โดดเด่นมากคนนึงที่เขาเคยพบเลยทีเดียว จริงๆแล้ว น้องณีนาเองก็ได้มาแข่งขันที่ Bromont เมื่อปี 2010  และสามารถคว้าตำแหน่งชนะเลิศและรองชนะเลิศในระดับ 1 Star มาได้ 


Team USA Shortlist via Eventing Nation (updated on 11 June 2012)

ประสบการณ์ และความประทับใจ

สำหรับในปี 2012 มีการแข่งอยู่ 4 รุ่น คือ CCI*/CCI**/CCI***/CIC*** ซึ่งแต่ละรุ่นก็จะมีเครื่อง Cross Country แยกกันไปคนละเส้นทาง พอมองไปแล้วจะเห็นสนามเขียวๆแล้วมีเครื่องอยู่เต็มไปหมด โดยรุ่น highlight จะอยู่ที่การแข่งขัน CIC*** ที่ระยะทางไม่ยาวนักแต่เครื่องกระโดดสูงเต็มพิกัดที่กำหนดไว้ (สูง 120 cm กว้างด้านบน 180 cm ฐานกว้าง 270 cm)  ส่วน Course Designer ก็จะค่อยๆเพิ่มความยากของเครื่องกระโดด จากเครื่องง่ายๆ (แต่ความสูงเท่าเดิมครับ) ไปเป็นเครื่องที่ต้องใช้เทคนิคในการควบคุมม้าอย่างสูงในช่วงกลางๆของคอร์สและกลับมาง่ายๆอีกครั้งในตอนจบ

ผมได้คุยกับ Course Designer Mr. Derek และได้ข้อคิดสำคัญในการออกแบบสนามว่า "มันไม่จำเป็นเลยที่เราจะต้องตั้งเครื่องให้ยากจนเกินไป และมันไม่ใช่ความสำเร็จที่นักกีฬาและม้าไม่สามารถผ่านเครื่องกระโดดของเราได้  เป้าหมายที่แท้จริงของพวกเรา Course Designer คือต้องการให้ม้าทุกตัวจบการแข่งขัน แต่ต้องมีมาตรฐาน (ความสูง/ความกว้าง) ตามระดับนั้นๆ เพราะฉะนั้นผู้ออกแบบจะต้องรู้ว่าตัวเองทำอะไรอยู่และต้องการทดสอบอะไรจากคนขี่และม้าในเครื่องนั้นๆ"




Cross Country Fence

หลังการแข่งขันจบ รายการนี้ทำให้ผมรู้ว่าระดับการแข่งขันของที่นี่สูงจริงๆครับ คนและม้าที่จะชนะการแข่งขันได้ต้องมีความแข็งแกร่งอย่างมากในการทดสอบทั้งสามวัน เพราะคะแนนการแข่งขันแต่ละวันจะสูสีกันมาก และหากมีใครพลาดเตะเครื่องกระโดดเพียงเครื่องเดียวในวันสุดท้าย จากที่เคยนำอยู่ก็สามารถตกลงไปได้หลายลำดับเลยเช่นกัน

ย้อนกลับมาดู น้องณีนา นักกีฬาขี่ม้าไทยก่อน qualify โอลิมปิค

หวนกลับมามองน้องณีนาในปีที่ผ่านมาแล้ว บอกได้คำเดียวว่าน้องเค้ามีความมุ่งมั่นสูง และทำงานหนักมากจริงๆ เพราะในการเก็บคะแนนสะสมเพื่อ qualify โอลิมปิค จะนับคะแนนเฉพาะรุ่น 3 Star เท่านั้น และถึงแม้จะลงแข่งขันทุกแมทช์แต่ถ้าไม่ชนะหรือได้ลำดับต้นๆในการแข่งขัน ก็จะมีคะแนนไม่มากพอที่จะไปqualify ในโอลิมปิคครั้งนี้  แถมนักกีฬาที่มาทำการแข่งขันเพื่อแย่งกันเก็บคะแนนสะสมเพื่อqualify ก็คือเหล่านักกีฬาระดับสุดยอดของกลุ่มอเมริกาเหนือทั้งนั้น (ณีนาทำการแข่งขันในทวีปอเมกาเหนือและยุโรปเท่านั้น) ดังนั้นการจะได้แชมป์ในแต่ละสนาม จะต้องฟันฝ่าคนพวกนี้มาให้ได้ และน้องณีนาก็ทำได้สำเร็จ โดยสามารถแข่งขันกับนักกีฬาพวกนี้ได้อย่างสูสี และชนะการแข่งขันระดับ 3 Star อีกหลายแมตช์ ผมสรุปให้เลยว่า น้องณีนา เธอคือ “ของจริง” ครับ!



 

Saturday, June 9, 2012

ลอนดอนเกมส์....ใกล้เข้ามาแล้ว!!

ตอนนี้เหลือเวลาไม่ถึง 50 วันแล้วสำหรับมหกรรมกีฬาโลก โอลิมปิคเกมส์ "ลอนดอน 2012" ที่กำลังจะเกิดขึ้น ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยกีฬาขี่ม้าจัดเป็นหนึ่งในประเภทกีฬาทั้งหมด 36 ประเภทที่จะมีขึ้นในสนามแข่งขันต่างๆกว่า 34 แห่งทั่วกรุงลอนดอน

กีฬาขี่ม้าในโอลิมปิค เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 1912 ที่กรุงสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ภาพจาก Fei.org

สวนสาธารณะกรีนิช สนามแข่งขันหลักของการแข่งขันขี่ม้าที่ ลอนดอนโอลิมปิคส์ ภาพจาก london2012.com

สำหรับกีฬาขี่ม้าในปีนี้  อังกฤษ ประเทศเจ้าภาพ ถือเป็นหนึ่งในประเทศต้นกำเนิดของกีฬาขี่ม้าอันมีประวัติศาสตร์มายาวนาน โดยเฉพาะพระราชวงศ์ส่วนใหญ่ของอังกฤษนั้นรักม้าและนิยมการขี่ม้าด้วยกันทั้งสิ้น ดังนั้นสนามแข่งขันหลักของปีนี้ จึงตั้งอยู่ที่สวนสาธารณะกรีนิช (Greenwich Park) สวนสาธารณะอันเก่าแก่ของราชวงศ์อังกฤษ  ที่สำคัญ ปีนี้จะเป็นการเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปีของการแข่งขันขี่ม้าในโอลิมปิคด้วย เพราะฉะนั้น การแข่งขันและงานต่างๆรอบสนามแข่งขันในปีนี้คงไม่ธรรมดาแน่ๆครับ

LONDON 2012 - OFFICIAL WEBSITE FOR EQUESTRIAN SPORTS

PAST RESULTS AND PHOTO ALBUMS via FEI.org


นอกจากประวัติศาสตร์ในอดีตของกีฬาขี่ม้าแล้ว ปีนี้ประเทศไทยก็กำลังจะสร้างประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ให้ถูกจารึกไว้ในวงการขี่ม้าไทยอีกครั้ง เมื่อนักกีฬาขี่ม้าสาวชาวไทย ณีนา ลิเกิ้น ล่ำซำ ประสบความสำเร็จจากการควอลิฟายไปแข่งขันที่อีเวนท์ติ้งโอลิมปิค และทำให้เธอเป็น 1 ในนักกีฬากว่า 75 คนทั่วโลก (ประเภททีม 55 คน และประเภทบุคคล 20 คน) ที่จะเข้าร่วมแข่งขันกีฬาขี่ม้าอีเวนท์ติ้งในโอลิมปิคครั้งนี้ โดยณีนาทำคะแนนได้เป็นอันดับที่ 11 ของตารางเก็บคะแนนสะสม อีเวนท์ติ้งโอลิมปิคประเภทบุคคล และเมื่อสิ้นสุดการเก็บคะแนนสะสม (1 มีนาคม 2012) ณีนายังรั้งอันดับที่ 36 ของโลกอีกด้วย

ณีนา ล่ำซำ ลิเกิ้น นักกีฬาขี่ม้าไทย กับม้าคู่ใจ Chai Thai ที่เอเชียนเกมส์ เมืองกวางโจว ประเทศจีน ในปี 2010 ภาพจาก NinaLigon.com

สำหรับวงการขี่ม้าไทย ณีนาเป็นนักกีฬาไทยเพียงคนที่ 2 เท่านั้นที่ได้เข้าไปแข่งขันในโอลิมปิค หลังจากที่ปูไข่ พงษ์สิรี บรรลือวงศ์ เป็นนักกีฬาไทยคนแรกที่ได้เข้าแข่งขันขี่ม้าประเภทเดียวกันในโอลิมปิค ปี 2004 ที่ประเทศกรีซ  แถมครั้งนี้ ยังมีนักกีฬาจากภูมิภาคเอเชียเพียงแค่ 2 ประเทศเท่านั้น คือ ญี่ปุ่น และ ไทย ที่จะได้ไปขับเคี่ยวกับนักกีฬาจากมหาอำนาจของโลก แล้วเหล่ากองเชียร์คนไทยจะพลาดได้ยังไง!

นานๆทีจะมีนักกีฬาขี่ม้าไทยได้ไปร่วมแข่งขันในกีฬาโอลิมปิค มาร่วมเป็นกำลังใจให้นักกีฬาของเราถึงขอบสนามเลยนะครับ!!



และในช่วงโค้งสุดท้ายแบบนี้ ทางเรามีตั๋วกีฬาขี่ม้าจัดจำหน่ายด้วยครับ โดยตอนนี้มีตั๋วของกีฬาขี่ม้าอีเวนท์ติ้ง ประเภทเดรสซาจ (อีเวนท์ติ้งมีแข่ง 4 วัน, ตอนนี้เหลือของวันเดรสซาจ วันที่1, 2) และ ตั๋วกีฬาขี่ม้าเดรสซาจ ประเภททีม รอบชิงชนะเลิศครับ 

สอบถามรายละเอียดได้ที่ horsemove.th@gmail.com หรือโทร 0855535096 ครับ :)



Sunday, June 3, 2012

Horses and Horse People Celebrating the Queen's Diamond Jubilee at Windsor Castle

เมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ที่ประเทศอังกฤษได้มีการจัดงานเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ขึ้น เนื่องในวโรกาสเฉลิมฉลอง 60 ปี การครองสิริราชสมบัติของสมเด็จพระนางเจ้าอลิซาเบธ ที่ที่พระราชวังวินเซอร์ (Diamond Jubilee Pageant)

Queen Elizabeth II & Prince Philip - Riding in 1991. Photo via The Telegraph UK

นอกจาก สมเด็จพระนางเจ้าอลิซาเบธ ที่ 2 จะเป็นศูนย์รวมใจของชาวอังกฤษและประชาชนจากหลายประเทศทั่วโลกแล้ว พระองค์ยังทรงเป็นเสมือนบุคคลสำคัญในวงการขี่ม้าอันเก่าแก่ของอังกฤษ  เพราะทรงรักม้าและทรงม้ามาตลอดตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ถึงแม้ในปัจจุบันจะไม่ได้ทรงขี่ม้าร่วมขบวนแห่ Trooping The Colours เหมือนเมื่อก่อน แต่พระองค์ก็ยังทรงม้าอยู่เป็นประจำ เพราะฉะนั้นการจัดงาน Diamond Jubilee Pageant ที่พ่วงเอางาน The Royal Windsor Horseshow เข้าไปด้วยจึงตระการตาไปด้วยการแสดง แสง สี เสียง ที่พร้อมใจกันมาจากทุกทวีปในโลก และการแสดงนั้นก็ล้วนแต่มี "ม้า"เป็นองค์ประกอบในการแสดงด้วยทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น
- The Royal Canadian Mounted Police Activity Ride
- Italy’s Carosello di Carabinieri
- The Kremlin Cossacks
- Huasos from Chile
- Australia’s New South Wales Activity Ride
- Oklahoma Cowboys and Cowgirls
- Oman’s 100 strong Royal Cavalry Activity Ride
- Marwari Horses from India

คงไม่ต้องบรรยายมากมาย เพราะ Pictures say it all! เรามาชมภาพบรรยากาศจากงาน Diamond Jubilee Pageant & The Royal Windsor Horse Show กันเลยดีกว่าครับ

ส่วนในช่วงวันบ่ายวันนี้ (วันอาทิตย์ที่ มิถุนายนจะมีการเฉลิมฉลองอีกครั้ง โดยจะมีการจัดกระบวนเรือพยุหยาตราชลมารค (Thames Diamond Jubilee Pageantโดยสมเด็จพระราชินีพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ จะประทับเรือพระที่นั่งรวม 20 ลำล่องไปตามแม่น้ำเธมส์ร่วมกับเรือต่างๆ อีกเกือบ 1,000 ลำโดยใช้เวลา 6 ชมซึ่งเป็นกระบวนพยุหยาตราชลมารคครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 350 ปี อย่าลืมติดตามชมภาพประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ครั้งนี้กันนะครับ (ข่าว: The Nation




อันนี้ของแถมครับ เป็นภาพจากปี 2011 ที่สมเด็จพระนางเจ้าอลิซาเบธ ที่ 2 ทรงเข้าเยี่ยมหน่วยทหารรักษาพระองค์ (The Kings Troop, Royal Horse Artillery) ครับ


 

Saturday, June 2, 2012

Thailand Selection Match for World University Equestrian Championships 2012

ปีนี้ถือว่าเป็นปีทองของน้องๆนักกีฬาระดับมหาวิทยาลัยจริงๆครับ เพราะมีการแข่งขันใหญ่ๆเกิดขึ้นถึงสองงาน ทั้งในระดับชาติ ซึ่งก็คือ กีฬาขี่ม้ามหาวิทยาลัย ที่กีฬาขี่ม้าได้ถูกบรรจุอยู่ในกีฬามหาวิทยาลัยแห่งชาติเป็นครั้งแรก  และในงานระดับโลกอย่าง การแข่งขันขี่ม้ากีฬามหาวิทยาลัยโลก (World University Equestrian Championship 2012) ครั้งที่ 10 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 22-26 สิงหาคมนี้ที่เมือง Aachen ประเทศเยอรมนี




สำหรับการแข่งขันขี่ม้ากีฬามหาวิทยาลัยโลกนั้น ทางสมาคมขี่ม้าฯได้จัดให้มีการคัดเลือกนักกีฬาไทยจำนวน 3 คนเพื่อเป็นตัวแทนไปแข่งขัน โดยมีเงื่อนไขที่เรียกได้ว่า "ท้าทายความสามารถอย่างมาก" เพราะในการแข่งขันขี่ม้ามหาวิทยาลัยโลกนั้น นักกีฬาจะต้องทำการแข่งขันทั้งในประเภทเดรสซาจและจัมปิ๊ง  ฉะนั้นนักกีฬาที่จะได้ไปแข่งขันต้องมีความเชี่ยวชาญในกีฬาทั้งสองประเภท  โดยในประเภทขี่ม้าเดรสซาจ นักกีฬาที่ทำการคัดตัวจะต้องแข่งขันในระดับ Medium และจะต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่า 55% ส่วนประเภทขี่ม้าจัมปิ๊ง จะทำการแข่งขันกันสองรอบ โดยในรอบที่ 1 ที่ระดับความสูง 125 cm จะต้องไม่มีคะแนนเสีย ส่วนรอบที่ 2 ที่ระดับความสูง 135 cm จะมีคะแนนเสียได้ไม่เกิน 8 คะแนน โดยการแข่งขันคัดตัวครั้งนี้จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 13-15 กรกฎาคม ในช่วงเดียวกับการแข่งขัน Maxwin CIC 1* & Pre-Novice ที่สโมสรไทยโปโล พัทยา ครับ

เรามาดูภาพบรรยากาศจากการแข่งขันขี่ม้ากีฬามหาวิทยาลัยโลกที่ผ่านมากันครับ โดยการแข่งขันขี่ม้ากีฬามหาวิทยาลัยโลก ครั้งที่ 8 จัดขึ้นที่เมือง Alger ประเทศอัลจีเรีย ในปี 2008 และการแข่งขันขี่ม้ากีฬามหาวิทยาลัยโลก ครั้งที่ 9 จัดขึ้นที่เมือง Sangju ประเทศเกาหลีในปี 2010 

ขอเชิญชวน พี่ๆเพื่อนๆน้องๆในวงการขี่ม้าทั้งหลาย มาช่วยให้นักกีฬาในการแข่งขันคัดตัวด้วยนะครับ!! ดูรายละเอียดด้านล่างนี้เลยครับ






 


Thailand Selection for World University Equestrian Championships 2012