Friday, August 3, 2012

LONDON DIARY #7 ปิดฉากอีเวนท์ติ้งโอลิมปิค


จบลงไปแล้วกับการแข่งขันขี่ม้าอีเวนท์ติ้งโอลิมปิค ณ กรุงลอนดอน ในการแข่งขันครั้งนี้มีเรื่องราวต่างๆเกิดขึ้นมากมาย ทั้งความสุข ความสมหวัง ความผิดหวัง มีทั้งผู้แพ้และผู้ชนะ แต่นี่คือ “เรื่องปกติ” ของการแข่งขันกีฬา


นักกีฬาระดับโลก

เมื่อดูมาครบสามวันของการแข่งขัน สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือความแตกต่างของนักกีฬาโอลิมปิค (Olympian) และนักกีฬาระดับโลก (World Class Rider)

ถามว่านักกีฬาสองกลุ่มนี้แตกต่างกันอย่างไร? 

ถ้าแปลตรงตัว นักกีฬา Olympian ก็คือนักกีฬาที่ได้เข้าแข่งขันโอลิมปิค ส่วนพวกนักกีฬาระดับ World Class นั้นคือพวกหัวกะทิ แบบสุดยอดของโลก 

จริงๆจะว่าไปแล้ว ในด้านฝีมือ เรียกได้ว่าทั้ง Olympian และ World Class Rider ไม่ค่อยแตกต่างกันมาก เพราะกว่าจะเข้ามาแข่งถึงที่นี่ได้ต้องเอาชนะคนอื่นมาแล้วเป็นร้อยเป็นพันคน แต่สิ่งที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ก็คือความสามารถในการเรียกฟอร์มเก่งของตัวเองออกมาได้ทุกเวลาที่ต้องการ และพลังพิเศษที่สามารถแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าได้อย่างทันท่วงที 




ยกตัวอย่างเช่น ในลอนดอนโอลิมปิคครั้งนี้  Andrew Nicholson นักกีฬาชาวนิวซีแลนด์ โชคร้ายโดนกรรมการสั่งให้หยุดก่อนเข้าสนาม Dressage เนื่องจากสภาพอากาศไม่อำนวย ทั้งพายุและฝนที่ตกอย่างหนัก (ใครที่ขี่ Dressage จะรู้ดีว่าถ้าเราวอร์มม้ามาจนพร้อมเข้าสนามแล้วแต่ถูกหยุดให้ไปเริ่มวอร์มใหม่แล้วค่อยเข้าแข่ง สภาพม้าจะไม่พร้อมสุดขีดและจะไม่สามารถทำผลงานได้ตามที่ควรจะเป็น) ทำให้เค้าได้คะแนนในรอบ Dressageไม่ค่อยดีนัก (คะแนนเสีย 45.0 ตามมาเป็นลำดับที่ 22) แต่ในสองวันที่เหลือเค้าสามารถพลิกกลับมาจบได้ในลำดับที่ 4 เพราะ clear เครื่องใน Cross Country และ Jumping รอบ Team Final ซึ่งเค้าบอกก่อนการแข่งแล้วว่าเขาจะทำให้ได้ แล้วเค้าก็ทำได้จริงๆ โดยเค้ามีคะแนนดีที่สุดในทีมนิวซีแลนด์ และส่งผลให้ชาว Kiwiคว้าชัยเหรียญทองแดงประเภททีมมาได้

อีกคนที่ไม่แพ้กัน เห็นจะเป็น Michael Jung (มิคาเอล ยุง) นักกีฬาชาวเยอรมัน ที่ใช้ความนิ่งรักษาฟอร์ม ทำให้ไม่มีคะแนนเสียเพิ่มในการแข่งขันวันที่ 2 และ 3 จนสามารถคว้าเหรียญทองประเภทบุคคลมาได้สำเร็จ


สรุปให้ฟังง่ายๆว่า ในการแข่งระดับนี้ หากนักกีฬาทำคะแนนเสีย แม้เพียงแค่ 1 คะแนนเท่านั้น ก็อาจจะทำให้ลำดับของตนตกหล่นไปต่อท้ายแถวได้เลย เพราะฉะนั้น นักกีฬาที่เราเห็นในการแข่งขันครั้งนี้ โดยเฉพาะในรอบสิบคนสุดท้าย (Individual Final) จึงแสดงให้เห็นถึงศักยภาพที่เป็นนักกีฬาระดับสุดยอดของโลก เป็นนักกีฬา World Class อย่างแท้จริง!

คนเก่งที่โชคร้าย

ในการแข่งขันครั้งนี้มีตัวเต็งหลายคนที่ต้องหลุดออกไปจากการแข่งขัน เนื่องจากตกม้า ม้าล้ม หรือม้าเจ็บ เช่น Boyd Martin จากทีม USA ที่ทำคะแนนทั้งสองวันได้ดีแต่ต้องขอถอนตัวในการตรวจสภาพม้าช่วงเช้าก่อนการแข่งขันกระโดด เนื่องจากม้ามีอาการบาดเจ็บ หรือนักกีฬาทั้งสองคนของทีมออสเตรเลีย (Clayton Fredericks และ Sam Griffith) ที่พลาดท่าตกม้าใน Cross Country เพราะม้าลื่นเสียจังหวะนิดเดียว ก็ทำให้ผลการแข่งขันของทีมออสเตรเลียในวันสุดท้ายต้องตกไปอยู่ในลำดับที่ 6  ซึ่งตามปกติแล้ว ทีมออสเตรเลียมักจะต้องติดอยู่หนึ่งในสามของ Leader Board เสมอ 



เห็นอย่างนี้ คงพอเห็นภาพกันว่า การแข่งขันขี่ม้าอีเวนท์ติ้งเป็นกีฬาที่หินและท้าทายความสามารถจริงๆ แต่นอกจากความเก่ง ความกล้าและลูกบ้าแล้ว บางครั้งกีฬานี้ยังต้องอาศัยโชคเข้ามาช่วยด้วย 
เพราะความผิดพลาดเล็กๆน้อยๆ เช่นม้าวางขาไม่ดีตอนกระโดด หรือการกะระยะผิดไปนิดเดียวของคนขี่ ก็อาจจะโชคร้ายส่งผลให้ม้าเบรคหรือหลบเครื่องกระโดดจนต้องถูกeliminateเลยก็ได้  แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่ความผิดพลาดเล็กน้อยเหล่านี้ไม่ได้ส่งผลต่อการขี่ของเค้าเลย 

การแข่งขันที่หินที่สุด

ในอีเวนท์ติ้ง คนที่จะชนะได้ ต้อง “เก่ง” ในกีฬาทั้งสามประเภทจริงๆ 
1. นักกีฬาต้องมีทักษะในการขี่ Dressage เพราะมันจะช่วยให้สามารถควบคุมม้าในการกระโดดเครื่องเทคนิคสูงๆได้ 
2. นักกีฬาต้องมีความเร็วและความเฉียบขาดใน Cross Country เพราะเฟสนี้ เวลาเป็นปัจจัยสำคัญและต้องผ่านเครื่องกระโดดให้ครบทุกเครื่องถึงจะไม่มีคะแนนเสีย
3. นักกีฬาต้องมีทักษะในการกระโดด เพราะเป็นบททดสอบสุดท้ายว่าใครจะเป็นผู้ชนะในการแข่งขัน

คนที่ทำทั้งสามอย่างนี้ได้ดี ก็จะมีโอกาสในการคว้าชัยชนะมากขึ้น นี่ยังไม่นับรวมปัจจัยทางด้านจิตใจที่เป็นตัวแปรสำคัญอีกตัว ว่าคุณจะรับมือความกดดันตลอดทั้งสามวันของการแข่งขันได้ขนาดไหน 
ยกตัวอย่าง เช่น นักกีฬาชาวสวีเดน Sara Ostholt  ที่เป็นผู้นำการแข่งขันมาตลอดในสองวันแรก และมีคะแนนนำ Michael Jung ที่ตามมาในลำดับที่ 2 อยู่แต้มเดียว  พลาดท่าในรอบสุดท้ายของวัน Jumping โดยเธอกับม้า Wega เตะเครื่องกระโดดเครื่องสุดท้ายตก ทำให้พลาดเหรียญทองไปอย่างน่าเสียดาย  เรียกได้ว่า ความกดดันในจิตใจของเธอส่งผลไปถึงเจ้าม้า Wega ทำให้มันไม่มั่นใจ จนกระโดดไม่เป็นธรรมชาติและเตะเครื่องกระโดดจนได้ ซึ่งเราเห็นได้บ่อยครั้งในการแข่งขันทุกระดับ (ซึ่งตัวผมเองก็เคยเป็น...)





ณีนากับก้าวแรกสู่ฝัน



กลับมาพูดถึงน้องณีนา หนึ่งเดียวของไทยบ้าง น้องณีนาสามารถทำตามความฝันตั้งแต่เด็กของเธอได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ต่อไปนี้ณีนาจะได้ชื่อว่าเป็นนักกีฬาระดับโอลิมปิค 

ถึงแม้เธอจะยังไม่สามารถคว้าเหรียญมาได้ในครั้งนี้ แต่ผมว่านี่ไม่ใช่ปลายทางฝันของเธอแน่นอน เพราะน้องณีนาเพิ่งอายุ 20 ปีเท่านั้น เส้นทางยังอีกยาวไกล พร้อมให้เธอได้สานฝันต่อไปในภายหน้า 
ผมได้แต่หวังว่า จะได้เห็นน้องณีนากลับมาแข่งขันขี่ม้าในระดับโลกอีกครั้ง เร็วๆนี้





ประสบการณ์ที่ได้จากการร่วม TEAM THAILAND ในโอลิมปิค

ตัวผมเอง ได้ไปเอเชียนเกมส์และซีเกมส์อยู่หลายครั้ง ส่วนใหญ่ไปในฐานะนักกีฬาทีมชาติ และล่าสุดในฐานะกรรมการการแข่งขัน แต่ต้องยอมรับว่าในระดับโอลิมปิคนั้น โอลิมปิคที่ลอนดอนครั้งนี้้เป็นโอลิมปิคแรกของผม เพราะก่อนหน้านี้ถึงอยากจะไปแต่ก็ไม่รู้จะไปดูใครแข่ง? เพราะไม่มีตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วม...

สองปีก่อน ในเอเธนส์โอลิมปิค ปี 2004 ครั้งที่ ปูไข่ พงศ์สิรี บรรลือวงศ์เข้าแข่งขันในนามทีมชาติไทย ประเภทอีเวนท์ติ้ง  ผมก็ไม่มีโอกาสได้ไปเชียร์  เลยคิดว่าครั้งนี้พลาดไม่ได้ ต้องหาโอกาสมาเชียร์ น้องณีนา นักกีฬาขี่ม้าไทย เลยจองตั๋วชมการแข่งขันล่วงหน้ามาหนึ่งปีเต็ม ซึ่งตั๋วหายากมาก แต่โชคดีที่ได้ตั๋วมาครบสามวันก็เลยตัดสินใจบินมาดูมาเชียร์น้องถึงที่  และก็เป็นโอกาสดีอีกครั้งที่น้าแป้น (แม่ของน้องณีนา) ได้ให้ความไว้วางใจให้ผมเข้ามาช่วยและเป็นส่วนหนึ่งของทีมงานในทีมไทยแลนด์ โดยทำหน้าที่ดูแลสื่อฯและดูแลเรื่องเว็บไซต์ของน้องณีนา 



จริงๆแล้ว การทำงานของผมกับทีมไทยแลนด์นั้น เริ่มกันมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ผมได้คุยและร่วมงานกับทีมงานคนอื่นโดยที่ยังไม่เคยเจอหน้ากันด้วยซ้ำ แต่เราก็ทำงานกันได้อย่างเข้าขา จนได้มาเจอทุกคนที่นี่ ทุกคนต่างทำหน้าที่ตัวเองได้อย่างดี ที่สำคัญเราทุกคนช่วยณีนาเพราะเราได้เห็นถึงความทุ่มเทบากบั่นในการฝึกซ้อม และการลงแข่งขันแมทช์ต่างๆโดยตระเวนแข่งขันเก็บคะแนนมาตั้งแต่ปลายปี 2010 ซึ่งเป็นเรื่องที่หนักหนาสาหัสพออยู่แล้ว เราจึงอยากช่วยแบ่งเบาภาระให้น้องณีนา (และคุณแม่) เหนื่อยน้อยลงบ้าง จะได้โฟกัสกับการซ้อมได้อย่างเต็มที่

นอกจากการเป็น Support Team และการเป็นผู้ชมในสนามแล้ว ประสบการณ์สำคัญอีกอย่างหนึ่งขอ
ผม คือการได้มีโอกาสเข้าไปในสนามแข่งขันและสนามซ้อม รวมถึงออฟฟิศต่างๆตั้งแต่ก่อนการแข่งขันโอลิมปิคจะเริ่มขึ้นด้วย ทำให้ผมได้มีโอกาสพบเจอคนในวงการขี่ม้ามากมายหลายคน 






ผมยังถามตัวเองอยู่เลยว่า ถ้าไม่ใช่มหกรรมกีฬาโอลิมปิคแบบนี้ แล้วจะมีกีฬาหรือกิจกรรมอื่นๆอะไรบ้างไหมที่ทำให้ผมได้มาเจอคนในวงการที่ทั้งรู้จักสนิทสนมและไม่เคยรู้จักแต่คุ้นหน้าคุ้นตากันได้มากขนาดนี้  และเท่าที่ตอบตัวเองไป ผมก็ยังไม่เคยเห็นการแข่งขันไหนเลยที่สามารถรวมพลคนที่รักม้า และชื่นชอบกีฬาขี่ม้าเหมือนกันได้มากขนาดนี้มาก่อน ถึงขนาดที่สามารถคุยกันได้อย่างกับรู้จักกันมาเป็นสิบๆปี

บอกได้คำเดียวว่าประสบการณ์โอลิมปิคครั้งนี้ สนุก มากที่สุดครับ! และก็คงยากที่จะลืมเลือนด้วยเช่นกัน เพราะผมได้มาเชียร์นักกีฬาไทยที่ลงแข่งขันในกีฬาที่ผมรักมากที่สุด ซึ่งโอกาสดีๆแบบนี้คงไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆครับ


สุดท้ายนี้ ผมและทีมงานHorseMove Thailand ต้องขอขอบคุณ ครอบครัว ล่ำซำ-ลิเกิ้น ที่ให้การสนับสนุน และให้โอกาส Horsemove ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ Team Thailand 


ขอบคุณจากใจจริงครับ 






No comments:

Post a Comment