Sunday, December 18, 2011

Grooming to the MAX (Part 1) : A Grooming Journey


บทความโดย Namchai Jantakad 


เป็นที่รู้ๆกันดีนะครับว่าในโลกของการแข่งขันกีฬาขี่ม้า นอกจากตัวนักกีฬาเองแล้ว ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับม้าโดยตรงก็คือ คนเลี้ยงม้า หรือที่เราเรียกคุ้นหูกันว่า “Groom” ซึ่งคุณสมบัติที่ดีของ Groom นั้น นอกจากจะต้องรู้ใจนักกีฬาและม้ามากที่สุดแล้ว ยังต้องเป็นคนที่นักกีฬาสามารถให้ความไว้วางใจได้มากที่สุดด้วย เพราะในความเป็นจริงนั้น Groom จะใช้เวลาคลุกคลีอยู่กับม้ามากกว่านักกีฬาเสียอีก อาจพูดได้ว่าเป็นบุคคล “เบื้องหลังความสำเร็จ” ของม้าและนักกีฬาคู่นั้นเลยทีเดียว

ประสบการณ์เลี้ยงม้าของผมเริ่มขึ้นอย่างจริงจังเมื่อปี 2010 หลังจากที่ขี่ม้ามาตลอดสิบกว่าปี ก็ถึงคราวที่ต้องตัดสินใจมาอยู่เบื้องหลัง เหตุเพราะเมื่อกลางปีนั้น น้องชายของผม “แมทธิว” คัดตัวติดทีมชาติไทยเป็นครั้งแรกและต้องเตรียมตัวเข้าแข่งขัน GUANGZHOU ASIAN GAMES 2010 ในตอนสิ้นปี ดังนั้นผมจึงพร้อมรับภารกิจหลักที่สำคัญอย่างมาก คือการฝึกหัดเพื่อเป็น Groom อย่างจริงจัง


สิ่งแรกที่ผมตัดสินใจทำ คือการไปฝึกหนักเพื่อเป็น Groom ที่ต่างประเทศ ผมได้เดินทางไป Australia และเจอกับ Natalie Blundell โค้ชของผม  ผมเริ่มงานเป็น Groom ให้กับ Nat ทันที แรกๆสิ่งที่ผมมีติดตัวไปตอนนั้นมีเพียงแค่ความรู้พื้นฐานที่นักกีฬาทุกคนรู้อยู่แล้ว เช่นว่าจะต้องแปรงม้ายังไง อุปกรณ์ไหนเรียกว่าอะไร ใส่ยังไง แต่พอได้ทำหน้าที่ Groom จริงๆ กลับกลายเป็นว่าผมต้องเรียนรู้วิธีการใหม่ทั้งหมด!  

ตลอดระยะเวลา 4 เดือน (June - September) ที่ทำหน้าที่ Groom ใน Australia ผมมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบม้าทั้งหมด 12 ตัว (ตอนแรกๆคิดกับตัวเองว่าจะไหวเหรอ?) แล้วไม่ใช่แค่เลี้ยงม้าเท่านั้น Groom ที่เมืองนอกจำเป็นต้องขี่ม้าเป็นด้วย ซึ่งก็ทำให้ผมรู้สึกสนุกขึ้นมาได้บ้าง เพราะผมได้ขี่ม้าด้วย วันละประมาณ 3-5 ตัว  ส่วนเรื่องการทำคอกนั้น ดีที่ที่นั่นม้าส่วนใหญ่จะถูกเลี้ยงไว้ใน Paddock จึงช่วยแบ่งเบาภาระในเรื่องการทำคอกไปได้เยอะ แต่ก็ยังมีความยากอยู่ตรงที่การจับม้าแต่ละตัวมาแปรงขนนี่แหละ เพราะพื้นที่ Paddock แต่ละแปลงกว้างใหญ่มาก อีกทั้งม้าแต่ละตัวก็จะมีผ้าคลุม (Rug) ยิ่งถ้าเป็นหน้าหนาว ม้าแต่ละตัวก็จะมีผ้าห่มหนา 2 ชั้นเป็นอย่างต่ำ กว่าจะจับได้และถอดผ้าคลุมก็เล่นเอาเหนื่อยกันเลยทีเดียว นอกจากการเลี้ยงม้า ดูแลม้า และขี่ม้าแล้ว ผมยังได้เรียนรู้ว่าวิธีการดูแลม้าแต่ละตัวจะแตกต่างกันไปตามลักษณะนิสัยของม้าตัวนั้นๆ (เหมือนกับคนเราที่ต้องการดูแลเอาใจใส่ต่างกัน) ความรู้และประสบการณ์ที่ผมเก็บเล็กผสมน้อยจากการที่ได้ดูแลม้าทั้ง 12 ตัวนั้น มันเป็นอะไรที่น่าประทับใจและลืมไม่ลงจริงๆ

สำหรับในแต่ละวัน หลักการและวิธีดูแลม้าของแต่ละคอก/สโมสรอาจจะมีระบบที่แตกต่างกันบ้าง แต่ส่วนใหญ่ Routine หลักๆมักจะเริ่มจากการทอดข้าวให้ม้า (ศัพท์ทหารเรียกว่าทอดข้าว ซึ่งภาษาชาวบ้านอย่างเราๆก็คือการให้ข้าวม้า) เตรียมคอก เก็บคอกให้เรียบร้อย ทำ Bedding (ม้าแต่ละตัวจะชอบ Bedding ไม่เหมือนกัน ซึ่ง Bedding มีอยู่หลายประเภทเช่น ฟาง, แกลบ, ขี้เลื่อย แม้กระทั่งลังกระดาษ--จากประสบการณ์ล่าสุดที่ซีเกมส์ในอินโดนีเซีย) เมื่อทำคอกเสร็จสะอาดเรียบร้อยแล้ว ก็ถึงเวลานำม้ามาแปรงทำความสะอาด แปรงขน แคะกีบ นำม้าไปจูงเดินหรือปล่อยแปลงเพื่อให้ม้าได้คลายเส้น (ในกรณีที่ม้าไม่ได้ถูกขี่ในตอนเช้า) หลังจากนั้นก็จะเป็นการให้ข้าวให้หญ้าในมื้อเที่ยงและมื้อเย็น ม้าบางตัวอาจจะมีมื้อบ่ายหรือมื้อดึกด้วย และถ้าว่างก็ต้องเอาอาน บังเหียนมาขัดให้พร้อมใช้งานได้ในวันต่อไป เท่านี้ก็เป็นอันจบงาน 1 วันแล้ว (ฟังดูสบาย แต่ไม่ง่ายและใช้เวลาและความชำนาญนะครับ ส่วนความสนุกมันอยู่หลังจากนี้)



 

การ Groom ม้าในช่วงระยะเวลา 1 เดือนก่อนแข่งไปจนถึงแข่งเสร็จเป็นสิ่งที่ยุ่งยากและจำเป็นต้องเตรียมการให้ถี่ถ้วน ควรมีการดูแลม้าอย่างใกล้ชิดเพื่อให้มั่นใจว่าม้าไม่มีความเสี่ยงต่อการเจ็บไข้ได้ป่วยในช่วงเวลาเหล่านี้ แทบจะเรียกได้ว่า “ยุงไม่ให้ไต่ไรไม่ให้ตอม” เพราะถ้าหากม้ามีอาการไม่ปกติแม้เพียงนิดเดียว ทั้งคนเลี้ยงและนักกีฬาก็จะพากันวิตกจริต กินไม่ได้นอนไม่หลับกันไปตามๆกัน ซึ่งเป็นผลในแง่ลบต่อสภาพจิตใจของนักกีฬาในการแข่งขันได้ เพราะฉะนั้น หลักสำคัญอย่างแรกสุดคือ การจัดเตรียม Packing List  ล่วงหน้าก่อนการแข่งขันอย่างน้อย 1 เดือน Groom ที่ดีจำเป็นต้องทำลิสต์รายการของใช้ อุปกรณ์ และสิ่งของสำคัญอื่นๆที่จะนำไปแข่ง และต้องเช็คว่ามีของขาดเหลืออย่างไรบ้าง หลักง่ายๆมีดังนี้

1.  ทำ Checklist ของเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการแข่งขันหรือระหว่างการแข่งขัน เช่น อาน บังเหียน ผ้าปูหลัง ที่แคะกีบ อุปกรณ์เครื่องม้าเสริม/สำรอง พาสปอร์ต ประวัติการฉีดวัคซีน รวมไปถึงอุปกรณ์ปฐมพยาบาลม้าและคน  (ยิ่งใช้เวลาคิดมากเท่าไรยิ่งดี หากต้องเดินทางออกนอกสถานที่เป็นเวลานานหลายวัน ยิ่งต้องนั่งนึกนั่งเช็คหลายรอบหน่อย) อย่าลืมตรวจสอบความแข็งแรงของอุปกรณ์ที่จะเอาไปด้วย

2. คำนวณปริมาณอาหาร หญ้า วิตามิน อาหารเสริม ว่าต้องนำไปมากน้อยเพียงใด โดยส่วนใหญ่ควรจะเอาไปเผื่อเล็กน้อย (ใช้หลักเหลือดีกว่าขาด)

3. เช็คความพร้อมและสภาพร่างกายของม้า เช่น ต้องตอกเกือกเมื่อไร ทำฟันเมื่อไร ทำวัคซีนอะไรบ้าง

4. ตรวจเช็คสภาพพาหนะ รถ Truck รถลาก รวมถึงเส้นทางการเดินทางให้พร้อม


นอกเหนือจากการจัดเตรียมการข้างต้น หรือ Routine ปกติที่ต้องทำอยู่แล้ว ในภาวะที่นักกีฬามีความกดดันสูงจากการแข่งขัน  Groom อาจต้องทำหน้าที่บางอย่างแทนนักกีฬาเพื่อไม่ให้นักกีฬาเกิดความเครียดเพิ่มขึ้น หรือเพื่อให้นักกีฬาคลายความกังวล เช่น Groom อาจจะต้องมีการถักเปียแผงคอม้าสำหรับการแข่งขัน Dressage หรือทำการ Trot Up แทนนักกีฬาด้วย 

น้องๆบางคนอาจจะเคยลองถักเปียกันมาบ้างแล้ว แต่อาจจะไม่พอใจหรือคิดว่าเปียที่ถักนั้นไม่สวย  ผมต้องขอบอกว่า ของอย่างนี้ต้องอาศัยที่ประสบการณ์และชั่วโมงบินครับ เหมือนๆกับการขี่ม้านั่นแหละ  ยิ่งใครถักบ่อยเท่าไรก็ยิ่งเป็นการฝึกฝนทักษะไปในตัว เพราะฉะนั้น สู้ต่อไปนะครับ! (ฮ่าๆ) 

ในการแข่งขัน Cross Country ก็ต้องอาศัยประสบการณ์และลงรายละเอียดไม่แพ้เรื่องอื่น เช่น เวลาปกติ Groom จะต้องทำการประคบขาม้าหลังจาก Cool Down เสร็จ ถ้าหากม้าไม่ได้เหนื่อยหรือเจ็บมากก็สามารถประคบเพียง 20 นาที แต่ถ้าอาการหนักหน่อยก็ควรจะประคบ 1 ยก (ใน 1 ยก คือ ประคบ 20 พัก 30 ประคบ 20) และบางตัวอาจจะต้องแช่กีบด้วยซึ่งก็แล้วแต่อาการของม้าตัวนั้นๆ ซึ่งม้าบางตัวอาจถึงขั้นต้องประคบขากันจนวินาทีสุดท้ายแล้วก็ออกไป Trot Up เลยด้วยซ้ำ ส่วนในช่วงกลางคืนเราอาจจะพอกโคลนที่ขาของม้าเพื่อช่วยรักษาเส้นเอ็นที่ใช้งานมาอย่างหนัก หรืออาจมีการประคบหลังด้วยถุงน้ำร้อนก็ดีหรือลูกประคบก็ดี เพื่อให้กล้ามเนื้อที่หลังม้าคลาย และเพื่อให้ม้าพร้อมทำงานแบบเต็มร้อยในการแข่งขันวันรุ่งขึ้น

จากประสบการณ์ตรงของผม ผมคงพูดได้เต็มปากว่าการเลี้ยงม้าไม่ใช่เรื่องง่ายๆที่จะเอาใครก็ได้มาเลี้ยงม้า การเลี้ยงม้าที่ดีและถูกวิธีนั้น นอกจากจะต้องมีใจรักและเอาใจใส่ม้าแล้ว คนเลี้ยงม้าต้องเข้าใจและมีประสบการณ์ความชำนาญหลายอย่างที่เป็นรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย ที่สำคัญคนๆนั้นต้องเป็นคนที่เราสามารถไว้เนื้อเชื่อใจได้เป็นอย่างมาก เพราะเราต้อง “ฝากชีวิตม้าของเรา” ไว้กับคนๆนั้น ส่วนคนๆนั้นก็ต้องเข้าใจหน้าที่และทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เพราะม้าเป็นสิ่งมีชีวิต เขามีจิตใจแบบคนเราเหมือนกัน.....

สัปดาห์หน้า ผม ในฐานะ Groom ของทีมไทย จะมาเล่าให้ฟังถึงประสบการณ์และอุปสรรคต่างๆที่เกิดขึ้นที่ซีเกมส์ ประเทศอินโดนีเซียครับ



No comments:

Post a Comment