Thursday, December 29, 2011

Grooming to the MAX (Part 2) : SEA Games Journal

บทความโดย Namchai Jantakad 


ช่วงการเก็บตัว ก่อนการแข่งขันซีเกมส์

ในช่วงเวลา 1 เดือนก่อนการเดินทางไปแข่งขันที่ซีเกมส์ ทีมนักกีฬาไทยทั้งหมดได้ย้ายมาปักหลักร่วมกันที่สโมสรขี่ม้าไทยโปโล สถานที่ที่ครบครันไปด้วยสนามฝึกซ้อม ที่พัก และสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย ระหว่างเก็บตัวที่นี่ ทางสมาคมฯได้จัดให้มีการแข่งขันมากมายหลายนัดเพื่อช่วยเตรียมความพร้อมให้กับนักกีฬาและม้าให้ได้ฟิตร่างกาย ในขณะที่หน้าที่ของGroomนั้น คือการเตรียมการณ์หรือจัดการสิ่งต่างๆรอบด้านที่จำเป็นต่อการเดินทางไปแข่งขันยังต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจเช็ควัคซีน เช็คสภาพร่างกายของม้า ซึ่งจะมีหมอมาตรวจแทบทุกอาทิตย์ (อย่างที่เคยบอกไปนะครับ ช่วงก่อนเดินทางเราต้องเซฟม้าและทะนุถนอมเขาให้มากที่สุด) หรือ มีการตรวจและฝังไมโครชิพ ซึ่งจะเป็นเหมือนเลขหนังสือเดินทางของม้า (ในการแข่งระดับนานาชาติแต่ละครั้งม้าทุกตัวจำเป็นจะต้องมีไมโครชิพ หากไม่มีไมโครชิพก็จะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศหรือทำการแข่งขันได้ เรียกได้ว่าเป็นม้าต่างด้าวนั่นเอง) 

นอกจากนี้ ยังต้องมีการทำ Packing list ของอุปกรณ์ทั้งหมดที่จะใช้ในการแข่งขัน เนื่องจากเราจะต้องไปใช้ชีวิตอยู่ที่ซีเกมส์กว่า 1 อาทิตย์ เราจึงควรตัดสินใจล่วงหน้าว่าของที่จะนำไปมีอะไรบ้าง เช่น จะนำบังเหียนไปกี่ชุด ใช้อานกี่หลัง แปรงกี่อัน อาหารกี่กิโล ที่สำคัญต้องเตรียมพร้อมแบบห้ามตกหล่นเป็นอันขาด เพราะเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าที่ที่เรากำลังจะเดินทางไปมีของเหล่านี้ขายหรือไม่ การทำ Packing list ในครั้งนี้ผมใช้เวลาแทบจะทั้งอาทิตย์เลยทีเดียว ตรวจเช็คกันหลายรอบมากเพราะของมีเยอะมาก และทุกอย่างก็จำเป็นเกือบทั้งหมด แต่ถ้ามองในแง่ของค่าขนส่งและความคล่องตัวในการเดินทางแล้ว วิธีที่ดีที่สุดคือเราต้องคัดเลือกของที่จำเป็นที่สุดไปในจำนวนที่น้อยที่สุด และอย่าลืมวัดขนาดพร้อมชั่งน้ำหนักของกล่อง/อุปกรณ์ทั้งหมดด้วย รวมๆแล้วโดยเฉลี่ย อุปกรณ์ของม้าหนึ่งตัวควรจะไม่เกิน 2-3 กล่อง  (ของยิ่งเยอะก็ยิ่งเป็นภาระในการเดินทาง)

การวางแผนและเตรียมตัวก่อนการเดินทางไปต่างประเทศ

นอกจากการเตรียมอุปกรณ์สิ่งของอย่างที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น  ม้าก็ต้องมีการเตรียมพร้อมเช่นกัน โดยในวันก่อนการเดินทาง คนเลี้ยงต้องค่อยๆลดอาหารของม้าที่กินในแต่ละมื้อไปจนถึงงดกินอาหารมื้อสุดท้ายก่อนการเดินทางไกล เพื่อความปลอดภัยและสุขภาพของม้า โดยเราจะให้กินแต่หญ้า และให้น้ำกับเกลือแร่เพิ่มมากขึ้น 


และแล้ว ประสบการณ์จากการทำงานเป็น Groom ของผม ก็ได้เดินทางมาถึงนาทีสำคัญ หลังจากที่ทีมนักกีฬาไทยได้เก็บตัวฝึกซ้อมฝึกฝนเข้มเป็นเวลากว่า 1 เดือน พวกเราทุกคน ตั้งแต่ม้ากีฬา 15 ตัว นักกีฬา 15 คน คนเลี้ยงม้าอีก 15 คน รวมถึงผู้จัดการทีมและโค้ช ก็พร้อมที่จะเดินทางไปแข่งขันที่เมืองจาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซีย โดยต่างก็มีจุดประสงค์แน่วแน่ที่จะนำเหรียญทองกลับมาให้พี่น้องชาวไทยได้ชื่นชม 

ทีมงานสมาคมฯได้วางแผนการเดินทางไว้ล่วงหน้า โดยมีกำหนดการให้คนเลี้ยงม้าทั้งหมดบินไปประเทศอินโดนีเซียในเวลาเที่ยง ของวันที่ 8 ตุลาคม 2011 เพื่อเตรียมความพร้อมและความเรียบร้อยของคอกม้าก่อนที่ม้าและนักกีฬาจะมาถึง โดยม้าทั้งหมดจะเดินทางมาถึงในเช้าของวันที่ 9 ส่วนนักกีฬาจะบินตามมาทีหลัง (ก่อนหน้านี้ นักกีฬาทั้งหมดเป็นคนนำม้าขึ้นรถ และไปส่งที่สนามบิน เอาจริงๆในตอนนั้นคนเลี้ยงม้าทุกคนก็ห่วงอยู่บ้าง เพราะเป็นครั้งแรกที่พวกเขาจะต้องเดินทางไปต่างประเทศและต้องห่างจากม้าไปเกือบ 24 ชั่วโมง) 


เที่ยงวันถึงเที่ยงคืนที่คนเลี้ยงม้าทั้ง 15 คนใช้ชีวิตอยู่บนท้องฟ้าและท้องถนน ในที่สุด เราก็ได้มาถึงสนามแข่งขันหลักที่ Arthayasa Stable อย่างแรกที่พวกเราทำ คือการเข้าไปดูความเรียบร้อยของคอกม้าว่าต้องมีการเตรียมพร้อมอะไรเพิ่มอีกบ้าง ซึ่งตอนนั้นทางผู้จัดได้เตรียมขี้เลื่อยไว้ให้บ้างแล้วประมาณคอกละ 5-6 กระสอบ เราก็พออุ่นใจบ้าง (ตอนนั้นยังไม่ได้เปิดดูว่าเป็นขี้เลื่อยยังไง)  หลังจากที่หลับไปได้ 2 ชั่วโมงถ้วน ในตอนเช้า เราก็เดินทางไปรับม้าที่สนามบิน ทุกอย่างเรียบร้อยดี คราวนี้ ในระหว่างทางที่เดินทางกลับคอก ขบวนรถม้าของเรามีรถตำรวจนำมาตลอดทาง (แต่ก็ช่วยอะไรไม่ได้มาก เพราะการจราจรที่นี่น่ากลัวมากทั้งรถติดแล้วถนนก็แคบมากด้วย) พอม้ามาถึงที่คอก พวกเราก็นำม้าเข้าคอกพร้อมปูขี้เลื่อย พอแกะถุงกระสอบมาเท่านั้นแหละทุกคนถึงกับสะดุ้งเล็กน้อย เพราะมันแทบจะเรียกว่าขี้เลื่อยไม่ได้เลย ต้องเรียกว่าฝุ่นจะง่ายกว่า 



 

ประสบการณ์ใหม่ที่อินโดฯ

ตลอดระยะเวลา 1 อาทิตย์ที่พวกเราเหล่า Groom ใช้ชีวิตอยู่ที่อินโดนีเซีย พวกเราต่างก็ได้รับประสบการณ์ใหม่ๆที่ตื่นเต้นแทบจะทุกวัน  เริ่มตั้งแต่การฝึกความอึดและความอดทนจากการเดินทางไปกลับระหว่างที่พักคนเลี้ยงมายังคอกม้า นอกจากที่คนเลี้ยงมาต้องถึงคอกม้าตั้งแต่เช้าตรู่ (ประมาณตี 5) เพื่อเตรียมข้าวมื้อแรกของวันให้ม้า กว่าจะได้กลับที่พักอีกทีก็ทุ่มกว่าๆหลังม้ากินข้าวมื้อเย็นเสร็จ พวกเรายังต้องเดินไปกลับรวมแล้วเกือบ 2 กิโลเมตรต่อวัน เรียกว่าฟิตแอนด์เฟิร์มกันเลยทีเดียว  หรือว่าจะเป็นวันแรกๆก่อนการแข่งขันที่มีพายุเข้า ทำให้ฝนตกหนักแทบจะทุกวัน บางทีก็ตกทั้งวันไม่มีหยุด บางวันถึงขั้นน้ำท่วมเข้าคอกม้า! บรรดาคนเลี้ยงม้าก็แทบจะไม่ได้พักกันเลยทีเดียว เพราะต้องคอยขุดลอกทางน้ำถมดินหรือทำทุกวิถีทางไม่ให้น้ำเข้าคอกหรือให้ขังในคอกให้น้อยที่สุด นอกจากนี้ยังมีเรื่องประสบการณ์ใหม่กับเจ้า Bedding ลังกระดาษ เพราะก่อนหน้านี้ม้าของเราบางตัวแสดงอาการแพ้ Bedding ขี้เลื่อย ทั้งตาแดงบ้าง ผื่นขึ้นบ้าง จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนใหม่หมด 



สุดท้าย คือเรื่องการ Trot Up ม้าก่อนขี่/แข่งทุกเช้าเพื่อเช็คความพร้อม ซึ่งก็มีความสำคัญอย่างมากอีกเช่นกัน ไม่เพียงแค่กีฬา Eventing ที่จะต้องมีการทร๊อทม้า แต่จริงๆแล้ว Dressage และ Jumping ก็ควรทำด้วยเช่นกัน หลายๆคนอาจจะมองข้ามความสำคัญของการ Trot Upไปนะครับ แต่สำหรับ Eventer จะรู้ดีว่า มันเทียบได้กับการไม่ได้รับเสียงโหวตแล้วต้องลากกระเป๋าตกรอบไปเลย  ม้าแต่ละตัวมักจะมีจังหวะวิ่งที่แตกต่างกันและแต่ละตัวต้องใช้เทคนิคที่แตกต่างกันไป เพราะเราไม่อยากให้กรรมการตั้งข้อสงสัยในครั้งแรกที่เขาเห็นม้าของเรา Trot Up  การฝึก Trot Up นั้นก็เหมือนกับการขี่ม้าหรือถักเปียนั่นแหละครับ เราต้องมีการหมั่นฝึกฝนอย่างมีขั้นตอน ต้องใช้ทักษะ และให้เวลากับมัน เพื่อจะได้รู้จังหวะที่เหมาะสมและเพื่อให้รู้ว่าวิธีไหนที่เราจะสามารถ present การวิ่งของม้าให้ได้อย่างดีที่สุด 

แข่งขันเสร็จ เตรียมตัวกลับ

หลังจากที่แข่งขันชิงชัยได้เหรียญมาเรียบร้อย  ก็ได้เวลาเก็บของกลับบ้านอีกครั้ง ซึ่งรอบนี้ก็จะไม่ต่างอะไรกับขามา เพราะเราต้องแพ็คของทุกอย่างให้อยู่ในที่เดิม และต้องมีการเปลี่ยนแปลงน้อยที่สุด เพราะที่ศุลกากรขาเข้าจะมีการตรวจเช็คอย่างเข้มงวด (ยิ่งกว่าตอนขาออกจากประเทศอีก) ก่อนเดินทางกลับในคราวนี้ต่างจากขามาตรงที่ คนเลี้ยงม้าจะเป็นคนนำม้าไปส่งขึ้นเครื่องเอง ในตอนนั้นเราต้องทำเวลาอย่างมาก เพราะเราออกจากที่คอกล่าช้ากว่ากำหนดถึง 2 ชั่วโมง พวกเราเริ่มนำม้าขึ้นรถ บทบางตัวจะง่ายก็ง่าย บางตัวจะไม่ขึ้นก็ไม่ขึ้นเลย แทบจะต้องใช้ทุกวิธีที่มีอยู่ในตำรามาใช้กัน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วม้าพี่ไทยเราจะชอบสบาย คือชอบให้ “อุ้ม” ขึ้นรถ!! เบ็ดเสร็จแล้ว พวกเราใช้เวลาชั่วโมงกว่าๆกับม้าทั้ง 15 ตัว เมื่อเดินทางไปถึงสนามบิน พวกเราทุกคนก็ต้องเร่งมือในการนำม้าเข้ากล่องเพื่อเตรียมขึ้นเครื่องบิน เพราะถ้ามีม้าตัวนึงช้า ตัวหลังๆก็จะต้องยืนบนรถนานขึ้น หลายคนก็พอรู้เทคนิควิธีของการโหลดม้าแต่ละตัวกันแล้วจึงใช้เวลาไม่มากนัก (ครั้งนั้นเราเอาม้าลงจากรถทีละคู่ เพื่อเป็นการตัดปัญหาม้าตื่น และพาเดินไปเดินมาในบริเวณสนามบิน) และในที่สุด ม้าทั้ง 15 ตัวก็อยู่ในกล่องเตรียมพร้อมที่จะกลับบ้านอย่างปลอดภัย

ทิ้งท้าย...

2 ปีที่ผ่านมา ผมขอขอบคุณม้าทุกตัวที่ผมเคยได้เลี้ยง พวกเขาได้สอนสิ่งต่างๆมากมายที่เป็นประโยชน์และเป็นประสบการณ์ดีๆที่ผมลืมไม่ลงจริงๆ

ขอขอบคุณโค้ชทุกคน ทั้ง Natalie Blundell, Andrew Hoy, Kim Severson และ Emily Butcher ที่ได้สอนเทคนิคเรื่อง Groom ต่างๆ  ขอบคุณน้าแป้น (คุณแม่ของณีน่า) ที่ได้สอนหลักการความรู้มากมายที่กวางโจว ขอบคุณ แม่ พ่อ พี่ๆ หมอ และสุดท้ายพี่ๆ Groom ทุกคนที่คอยอยู่ช่วยเหลือกันตลอดเวลาจนทีมไทยได้เหรียญกลับมาครับ

*****

Related Articles:

No comments:

Post a Comment