หลายคนอาจคิดว่าเดรสซาจเป็นเพียงกีฬาสวยงาม และตัดสินกันเพียงแค่การ "ดู" และการ "วิจารณ์" แต่จริงๆแล้ว หลักการตัดสินให้คะแนนในกีฬาเดรสซาจมีกฎและรายละเอียดอยู่ซับซ้อนมากมาย แต่ละคะแนนที่กรรมการให้มีหลักการคิดเบื้องลึกอยู่ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นผมจึงมักแนะนำให้นักกีฬาเดรสซาจหมั่นเรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับการตัดสินของกรรมการ และมองเข้าไปถึงแก่นลึกของหลักการให้คะแนนของกรรมการด้วย เพราะโจทย์ของแต่ละเทสต์ที่กำหนดมา หาใช่แค่เป็นการทดสอบความสวยงามอย่างเดียวแต่ยังรวมไปถึงคุณภาพของแต่ละท่วงท่าและการจัดระเบียบร่างกายของทั้งคนและม้า คะแนนจะได้มากหรือน้อยไม่ได้ขึ้นอยู่แค่เพียงว่าม้าทำท่าแต่ละท่าได้ แต่ยังมีองค์ประกอบอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งนักกีฬาต้องสร้างสิ่งเหล่านี้ที่กรรมการมองหาขึ้นมาและต้องอาศัยการฝึกซ้อมที่ใช้เวลาเป็นปีๆ
ทุกวันนี้ ประเทศไทยมีนักกีฬาเดรสซาจค่อนข้างน้อย เพราะนอกจากม้าจะแพงแล้ว การฝึกฝนยังยาวนานและสาหัสกว่ากีฬาประเภทอื่น จึงต้องอาศัยความอดทนอย่างสูงเพื่อจะฝึกม้าในการทำท่าทางต่างๆ
แต่ด้วยการสนับสนุนอย่างเต็มที่จาก บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัดและสมาคมขี่ม้าแห่งประเทศไทย Hans Staub โค้ชระดับโอลิมปิค ถูกส่งตรงมาจากประเทศสวิสเซอร์แลนด์เพื่อมาสอนและติวเข้มนักกีฬาทีมชาติเดรสซาจไทยอย่างต่อเนื่องกันเป็นเวลาร่วม 5 เดือน นักกีฬาของเราจึงได้ถูกบ่มเพาะเทคนิคระดับเทพมาเป็นอย่างดี
Thailand Dressage Team for SEA Games 2011. © 2011 www.horsemovethailand.com
ทีมชาติไทยชุดซีเกมส์ 2011 ถือได้ว่าเป็นทีม "ลูกครึ่ง" ที่ว่าลูกครึ่งก็เพราะว่าครั้งนี้เป็นการผสมผสานระหว่างนักกีฬาที่มีประสบการณ์ อย่าง สุวัชร์ บุญลือ (เหรียญทองแดงทีม เอเชียนเกมส์ '98, เหรียญเงิน ประเภททีม และ ทองแดงบุคคล ซีเกมส์ '01), นิธิภัทร เหง้าโอสา (เหรียญทองแดงทีม เอเชียนเกมส์ '98) และ ภคินี พันธาภา (เหรียญเงิน ประเภททีม ซีเกมส์ '01) กับอีกครึ่งหนึ่งซึ่งเป็นน้องใหม่ ที่ใจพร้อมเต็มร้อยกับการเปิดซิงซีเกมส์ครั้งแรก ไม่ว่าจะเป็น มินท์ พนัญญา ตาดทอง และ เพื่อน ประดิษฐา ฐิตะฐาน
ยุครุ่งเรืองของทีมเดรสซาจไทยเริ่มขึ้นในซีเกมส์ปี 1995 ที่ทีมไทยได้ 1 เหรียญทองประเภททีมและ 1 เหรียญเงินและ 1 เหรียญทองแดงประเภทบุคคล ต่อด้วยความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ ในเอเชียนเกมส์ปี 98 เมื่อทีมเดรสซาจไทยชนะทีมญี่ปุ่นจ้าวแห่งเอเชีย โดยคว้าเหรียญทองแดงประเภททีมมาได้ ต่อด้วยอีกครั้งในซีเกมส์ปี 2001 ที่ไทยคว้า 1 เหรียญเงินประเภททีม และ 1 เหรียญทองแดงในประเภทบุคคล แต่หลังจบซีเกมส์ ปี 2001 การแข่งขันเดรสซาจก็แทบจะหายไปจากวงโคจรของการแข่งขันระดับภูมิภาค จนกระทั่งในซีเกมส์ปี 2007 กีฬาเดรสซาจก็กลับมาอีกครั้ง ซึ่งประเทศไทยคว้าสองเหรียญทองแดงจากประเภททีมและบุคคลมาได้ โดยในประเภททีม มีมาเลฯมาเป็นอันหนึ่ง ส่วนอินโดฯเป็นอันดับสอง ในขณะที่ในประเภทบุคคล ที่หนึ่งและสองตกเป็นของนักกีฬามาเลฯ ส่วนพี่ไทยได้เหรียญบุคคลทองแดงแซงหน้ามือหนึ่งของอินโดนีเซีย
สำหรับซีเกมส์ปี 2011 ไร้เงาทีมชาติจากมาเลฯที่จะมาเป็นกระดูกก้อนโตในการชิงชัยเหรียญทอง แมทช์นี้จึงเป็นเสมือนแมทช์ล้างตาระหว่างทีมชาติไทยและอินโดนีเซียแบบเต็มๆ
© 2011 www.horsemovethailand.com
ติดตามความคืบหน้าและให้กำลังใจนักกีฬาของเราได้ที่นี่ครับ
HorseMove Thailand's Facebook
จากรูปด้านบน (ซ้ายไปขวา)
1. ครูวัชร์ สุวัชร์ บุญลือ
2. มินท์ พนัญญา ตาดทอง
3. เพื่อน ประดิษฐา ฐิตะฐาน
No comments:
Post a Comment